คุณมาโนช ชุ่มเมืองปัก หรือ พี่โนช อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หนึ่งในอาสาสมัครชุมชนนิเวศสันติวนา รุ่นที่ 3 หลังจากพี่โนชผ่านการฝึกงานด้านเกษตรและเป็นอาสาสมัครกับทางชุมชนนิเวศสันติวนาไปแล้ว พี่โนชได้นำไปขยายผลต่อยอด ลงมือทำแปลงผักในคณะนิเทศศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อต้องการสื่อสารไปถึงนักศึกษา อาจารย์ บุคคลากร และผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัยและเรื่องสิ่งแวดล้อม
จุดเริ่มต้นของโครงการปลูกผักมาจากไหน ?
พี่โนชได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเรื่อง การปลูกผักและการทำเกษตรเมืองมาบ้างอยู่แล้ว และเมื่อได้ทราบข่าวว่าชุมชนนิเวศสันติวนาได้เปิดรับสมัครอาสาสมัครรุ่นที่ 3 จึงสนใจสมัครเข้าร่วม ความรู้จากทั้งสองโครงการที่ได้เข้าร่วผสมผสานกันทำให้เกิดความสนใจด้านเกษตรเมืองมากขึ้น ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายที่เน้นเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียว จึงได้ลองนำความคิดเรื่องทำแปลงผักไปคุยกับที่คณะดู และเพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนของคณะนิเทศศาสตร์ แปลงผักที่พี่โนชตั้งใจจะทำขึ้นมานั้น คงไม่ใช่การทำเพื่อหวังผลผลิตมาเพื่อการจำหน่ายเป็นหลัก แต่ตั้งใจว่า แปลงผักนี้จะเป็นเหมือนเครื่องมือสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมให้กับทุกคนในมหาวิทยาลัย
โครงการนี้มีชื่อว่าอะไรและปลูกอะไรบ้าง ?
โครงการนี้ชื่อว่า มากินผักที่มอเรามั้ย สามารถติดตามเรื่องราวสนุกๆได้ที่ https://www.facebook.com/Knowledgetable.DPU/ โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อ เมษายน 2565 ที่ผ่านมาโดยมีแปลงผักตั้งอยู่บนสนามหญ้า ตรงด้านหน้าของสตูดิโอของคณะนิเทศศาสตร์ โดยมีแปลงผักโต๊ะตั้งจำนวน 2 โต๊ะ ปลูกผักในยางรถยนต์เก่าและในกระถางต่างๆ โดยที่นี่ปลูกผักสลัดเป็นหลัก ผักหลายชนิดเป็นผักที่ได้รับคำขอมาจากบุคคลากรในมหาวิทยาลัยเรียกร้องอยากให้ปลูกให้ เช่น ผักโขม ผักสลัดร๊อคเกต และหลายชนิดเป็นผักที่คนไม่ค่อยรู้จัก เช่น เคล พี่โนชได้ลองฝึกปลูกมาจากตอนที่ฝึกงานที่สันติวนา ก็เลยนำมาปลูกดู ก็ถือว่าได้รับความนิยมจากคนในมหาวิทยาลัยมิใช่น้อย
จัดการผลผลิตที่ได้มาอย่างไร ?
เนื่องจากงบประมาณส่วนหนึ่ง เช่น โครงสร้างโต๊ะปลูกผัก ได้รับการสนับสนุนการมหาวิทยาลัย พี่โนชจึงคิดว่าอยากให้โครงการอยู่ได้ด้วยตัวเองได้ จึงปลูกผักที่มีราคาหน่อย เช่น สลัด และนำไปจำหน่ายให้กับ นักศึกษา บุคคลากร ผู้ปกครองที่สนใจ หรือบุคคลที่ผ่านไปผ่านมาในราคาที่ย่อมเยาว์ ต่ำกว่าในท้องตลาด อีกส่วนหนึ่งคือแจกจ่ายให้ แม่บ้าน รปภ. หรือ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่ต้องการ
ผสมผสานเรื่องการจัดารขยะเศษอาหารอย่างไร?
นอกจากนี้ยังมีการหมักปุ๋ยจากเศษอาหาร เนื่องจากโดยส่วนตัวพี่โนชสนใจเรื่องของการจัดการขยะจึงคิดว่าจะนำการจัดการขยะในมหาวิทยาลัยมาผสมผสานกับโครงการนี้ด้วย โดยความตั้งใจของพี่โนชคือ อยากจัดการขยะเศษอาหารจากมหาวิทยาลัยทั้งหมด แต่เนื่องด้วยตอนนี้ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่มีพี่โนช เป็นหลักคนเดียว จึงยังไม่สามารถจัดการได้เต็มรูปแบบ ณ ปัจจุบันนี้จึงเริ่มต้นกับร้านอาหารสองร้านในมหาวิทยาลัย โดยไปตั้งถังหมักเพื่อให้ร้านอาหารเก็บเศษอาหารไว้ให้ นำมาหมักปุ๋ยที่โครงการ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจให้ความรู้เรื่องการแยกขยะเศษอาหารเพื่อให้เจ้าของร้านอาหารเข้าใจเพื่อให้ความร่วมมือกับเรา โดยอนาคตหวังว่าจะสามารถขยายต่อยอดไปได้ทั่วมหาวิทลัย แต่อย่างน้อย ณ ตอนนี้ถือว่ากิจกรรมตอนนี้เป็นเครื่องมือที่จะบอกเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ตั้งใจไว้
การมีส่วนร่วมของคนในมหาวิทยาลัย
จริงๆตอนนี้คนหลักๆ ที่ดูแลคือ พี่โนช นอกจากนั้นก็จะมีแม่บ้าน หรือ รปภ. ที่ช่วยดูแล และรดน้ำแปลงผักในวันที่พี่โนชไม่สะดวก หรือวันที่มีการเรียนการสอนพี่โนชก็จะให้นักศึกษามาช่วยรดน้ำ หรือช่วยงานตามความสนใจ แต่การที่นักศึกษาเป็นเรียนนิเทศศาสตร์ ดังนั้นความสนใจเบื้องต้นด้านการเกษตรอาจจะมีไม่มากหรือไม่มีความสนใจด้านนี้ พี่โนชจึงลองหาแนวทางประยุกต์วิชาเรียนด้านการสื่อสารต่างๆในคณะ เช่น พี่โนชได้ทดลองทำบอร์ดเกมด้านเกษตรขึ้น เพื่อหวังว่าจะได้เป็นวิธีการสอน และเป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องเกษตรให้เข้าใจง่ายและสนุกสนาน นอกจากนั้น แปลงผักของโครงการยังเป็นโจทย์ให้นักศึกษาไปลองคิดวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะทำสื่อวีดีโอ ทำเพจออนไลน์ หรือวิธีการใดๆที่จะสื่อสารเรื่องเกษตรและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
มองอนาคตโครงการนี้อย่างไร
อยากขยายต่อยอดไปในระดับมหาวิทยาลัย เช่น บริหารจัดการขยะเศษอาหารให้เกิดการหมุนเวียนอยู่ในมหาวิทยาลัย และอยากให้โครงการนี้ค่อยๆขยายต่อยอด ไปมากขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วตอนนี้ เพจ มากินผักที่มอเรามั้ย ถือว่าได้รับผลตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ มีการแชร์ บอกต่อมากขึ้น มีนักศึกษาและอาจารย์จากคณะอื่นมาให้ความสนใจ มาเยี่ยมชมและพูดคุยเกี่ยวกับการเพาะปลูกมากขึ้น อยากจะสื่อสารเรื่องการเกษตรนี้ออกไปในวงกว้างว่า เรื่องเกษตรเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ ถึงแม้คุณจะเชี่ยวชาญเรื่องด้านอื่นๆ แต่เกษตรเป็นสิ่งที่จำเป็นกับชีวิต ซึ่งต่อไปได้รับความสนใจมากขึ้น คาดว่าจะได้จัดกิจกรรมด้านเกษตรเมืองเพื่อเป็นการสื่อสารเรื่องนี้ให้มากขึ้น